หนังสือ Work for Money, Design for Love (ตอนที่ 1)

work-for-money-design-for-love-1

การตัดสินใจในแต่ละช่วงของชีวิตนั้น มักต้องใช้องค์ความรู้หลายอย่าง สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ ก็มักมีหนังสือเล่มโปรดหลายๆ เล่มเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอๆ

  • ในตอนที่ผมตัดสินใจก่อตั้ง TiGER iDEA และ iSchool นั้น หนังสือ Good to Great ได้บอกกล่าวกับผมว่า จงทำในสิ่งที่ รัก เก่ง และทำกำไร
  • ในตอนที่ผมตัดสินใจย้ายออกจากกรุงเทพฯ และสุดท้ายไปลงเอยที่ปาย หนังสือ Your Money or Your Life ได้กล่าวกับผมว่า เงิน คือสิ่งที่ใช้พลังชีวิตไปแลกมา, การพักผ่อน/บริโภค คือการใช้เงินไปแลกพลังชีวิตกลับคืนมา ดังนั้นเราไม่ควรอยู่ในทีที่การแลกเปลี่ยนนี้ไม่คุ้มค่า
  • ในตอนที่ผมตัดสินใจร่วมก่อตั้ง สามย่าน ดิจิตอล เอเจนซี ผมบอกกับหุ้นส่วนว่า ผมจะทำบริษัทแบบหนังสือ Rework คือนำทุกฝ่ายมาเผชิญความจริงอย่างถึงที่สุด ขายความจริง ไม่ใช่ความเชื่อ ถ้าทำไม่ได้ ผมก็ขอทำอะไรเล็กๆ ของตัวเองดีกว่า

WORK FOR MONEY, DESIGN FOR LOVE

จนเมื่อมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่ปาย ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต ผมก็พบว่า หนังสือ Work for Money, Design for Love นี้ บอกกล่าวและสร้างแรงบันดาลใจหลายอย่าง จนคิดว่านำมาบันทึกไว้ดีกว่า เพราะนอกจากผมแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากทำธุรกิจด้านการออกแบบอีกหลายๆ คนด้วย เหมือนกับที่คนเขียนได้กล่าวไว้ว่า นี่เป็นหนังสือที่เค้าอยากอ่านตอนที่ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งถ้าได้คำปรึกษาเหล่านี้แต่แรก ก็คงไม่ต้องเสียเวลาไปหลายปี

บันทึกบางส่วนจากที่โน้ตไว้ใน Kindle นะครับ ทั้งที่ตัวเองโน้ตไว้ และที่คนใช้ Kindle คนอื่นๆ โน้ตไว้
(ปลี้ม Kindle ตรงนี้แหละ ไปดูได้ด้วยว่าชาวบ้านเค้าไฮไลท์อะไรไว้ เผื่อตกหล่น)

work-for-money-design-for-love-2

ตอนที่ 1 เริ่มต้นยังไงดี?

มั่นใจหน่อย

  • เราต้องสร้างสิ่งที่มีค่า ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ถ้าเราเองยังไม่มั่นใจว่าสิ่งเหล่านั้นมีค่า ก็ไม่มีใครจ่ายเงินให้หรอกนะ
  • เป็นฟรีแลนซ์ต้องหมั่นขายของ โดนปฏิเสธเป็นร้อยเป็นพันหนนั่นเป็นเรื่องปกติ ยิ่งถูกปฏิเสธยิ่งทำให้เราเข้าใจตัวเอง ว่าทำไมขายงานไม่ได้ ราคาแพงไป?, ความน่าเชื่อถือต่ำไป? ฯลฯ

เป็นผู้จัดการตัวเอง ต้องตัดสินใจเอง

  • เรามีสิทธิคิดราคาเท่าไหร่ก็ได้ แต่เราก็ต้องรับผลของมัน การโดนต่อราคาหรือขอให้ทำฟรีเป็นเรื่องปกติ อยู่ที่เราจะจัดการอย่างไร
  • ถ้าเราลดราคาให้มาก หรือแถมฟรีมาก เรากำลังบอกลูกค้าโดยอ้อมว่า งั้นอย่างอื่นก็ลดได้ หรือฟรีได้ (เพราะตั้งราคาเผื่อต่ออยู่แล้ว?)

มืออาชีพ

  • จะเป็นมืออาชีพได้ ก็ต้องมีอาชีพให้ทำ ขายของให้เป็น ดูตัวอย่าง Design Studio เจ๋งๆ เช่น Chermayeff & Geismar, Moving Brands, Pentagram, Wolff Olins, Landor, Turner Duckworth, venturethree, SomeOne, johnson banks เค้าเอาผลงานมานำเสนอได้ดี บอกว่าทำอะไรบ้าง ไม่ใช่เอารูปอะไรก็ได้มาวางๆ
  • คำที่ใช้ในเว็บ, วิธีตอบโทรศัพท์, เวลาที่ใช้ตอบเมล, การแต่งตัว (แม้แต่ทำงานอยู่บ้าน) หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลาย มันทำให้คุณแตกต่าง

อย่าทำตามๆ ที่เคยทำ

  • Bob Gill กล่าวไว้ว่า “นักออกแบบที่รู้ว่าผลลัพท์ของงานออกแบบจะเป็นอย่างไร โดยยังไม่รู้เลยว่า งานนั้นจะแก้ปัญหาอะไร มันก็ตลกพอๆ กับนักคณิตศาสตร์ที่รู้ว่าคำตอบคือ 112 โดยยังไม่รู้โจทย์เลยนั่นแหละ” (Menn: เพิ่มเติมว่า ดีไซน์ คือการแก้ปัญหา จะดีไซน์ได้ ต้องรู้ว่าจะแก้ปัญหาอะไร)
  • เวลารับงาน ให้เริ่มตั้งแต่ศึกษาความต้องการของลูกค้า ดูว่าธุรกิจเค้าคืออะไร รายได้เค้ามาจากทางไหน งานออกแบบไปช่วยอะไรเค้าได้ ไม่ใช่เอางานดีไซน์ที่ไม่ได้ใช้ครั้งก่อนๆ มาเสนอ

อย่าหยุดเรียนรู้

  • นักออกแบบเป็นอาชีพที่โชคดีนะ เราได้เรียนรู้ แล้วเราก็ได้เลี้ยงชีพด้วย แต่อย่าลืมว่า เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

สถาบันด้านการออกแบบ ลืมสอนอะไร?

  • Stephen Lee Ogden บอกว่า โรงเรียนด้านการออกแบบนั้น มักจะสอนให้เราสามารถสื่อสารกับนักออกแบบได้ แต่ดันไม่ค่อยได้สอนให้สื่อสารกับคนที่ไม่ใช่นักออกแบบ
  • ดังนั้น อย่าใช้ศัพท์แสงเยอะ อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ และต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า
  • ถ้าลูกค้าบอกว่าอยากได้สีฟ้า หน้าที่ของคุณคือถามว่า “เพราะอะไร?” ไม่ใช่แค่เพราะว่าชอบสีฟ้า แต่ว่าสีฟ้าต้องตอบโจทย์ด้านการออกแบบบางอย่างด้วย
  • Alan Anderson กล่าวว่า “ถ้าคุณคุยกับลูกค้าไม่รู้เรื่อง ปิดการขายไม่ได้ ความสามารถอื่นๆ ของคุณก็ไร้ประโยชน์ เพราะถ้าไม่มีลูกค้า ก็ไม่มีงานออกแบบ”
  • Catrina Dulay กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่า งานว้าวๆ กับงานที่ตอบโจทย์ มันแตกต่างกันนะ”

คำแนะนำสำหรับการหมั่นหาความรู้

  • อ่านบล็อกด้านการออกแบบให้ได้ซักวันละ 15 นาที
  • หาทางไปเยี่ยม Design Studio แถวบ้านให้ได้เดือนละครั้ง แล้วเขียนบล็อกถึงก็ได้ (Menn: ในไทยมันไม่ได้หาง่ายขนาดนั้นเฟร้ย)
  • แนะนำตัวกับคนที่เรานับถือ เพราะเค้าอาจยินดีให้คำแนะนำเรา (Menn: อันนี้ผมเห็นด้วยนะ ถ้าน้องๆ อยากจะมาแนะนำตัว ผมยินดีนะ เมลมาสั้นๆ ที่ info (at) mennstudio.com ได้ครับ ว่าเป็นใคร ทำอะไรอยู่)
  • สอนด้านการออกแบบให้น้องๆ นักเรียน นักศึกษา เพราะว่าเราทุกคนต่างเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันได้

หาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ

  • ถ้าทำทุกอย่าง ก็จะไม่เก่งซักอย่าง จะเก่งได้ต้องโฟกัส และทำให้ดี
  • จะโฟกัสได้ ต้องมีเป้าหมายทีละอย่าง และวางแผนทำตามเป้าหมาย (Menn: ผมขอเพิ่มเติมว่า เป้าหมายที่ไม่มีเดทไลน์ เรียกว่าความฝัน)
  • ซึ่งในแวดวงออกแบบ มีหลายงานที่ใช้ความสามารถไขว้กัน ทั้งที่อาชีพมีเยอะมาก เช่น Graphic designer, Web design, Web developer, Product designer, Digital designer, Magazine designer, Packaging designer, Brand identity designer ซึ่งเราต้องหาไปเรื่อยๆ ว่าเราทำอะไรได้ดี ฝึกทักษะไปทีละอย่าง และไปทำกับธุรกิจทีละประเภท เช่น ร้านอาหาร, ร้านเสริมสวย, องค์กรขนาดเล็ก, ธุรกิจอสังหาฯ, องค์กรการกุศล ฯลฯ เพราะแต่ละประเภทต้องการงานออกแบบที่ตอบโจทย์ไม่เหมือนกัน

ข้อดีข้อเสียของการเป็นฟรีแลนซ์

  • ข้อดี: ทำงานเมื่อไหร่ก็ได้
  • ข้อเสีย: ลูกค้าจะคาดหวังว่าคุณทำงาน 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์
  • ข้อดี: จะคิดราคาเท่าไหร่ก็ได้
  • ข้อเสีย: แล้วจะคิดราคาเท่าไหร่ดี? (วะ?) เดี๋ยวตอนต่อๆ ไปจะมีรายละเอียดเพิ่มนะ
  • ข้อดี: ได้ทำงานที่รัก
  • ข้อเสีย: หลายคนคิดว่า คุณได้ทำงานที่รักแล้ว คุณน่าจะทำงานให้เค้าฟรี
  • ข้อดี: อยากหยุดเมื่อไหร่ก็หยุด
  • ข้อเสีย: หยุดแล้วไม่ได้เงินเดือนนะ
  • ข้อดี: ได้ทำงานหลากหลายตำแหน่ง ทั้งออกแบบ, ขาย, บัญชี, การตลาด, ไอที ฯลฯ
  • ข้อเสีย: บางทีคุณก็อยากทำแค่ตำแหน่งที่ชอบ
  • ข้อดี: ห้องทำงานห่างจากห้องนอน 10 ก้าว
  • ข้อเสีย: คุณทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศไม่ได้นะ คุณพักผ่อนได้ตลอดเวลา คุณก็ต้องทำงานตลอดเวลา
  • ข้อดี: เอาโน้ตบุคไปทำงานที่ไหนก็ได้
  • ข้อเสีย: เอาเข้าจริง ทำงานข้างนอกไม่ได้สะดวกนักหรอกนะ

(Menn: เพิ่มเติมว่า เวลาผมให้สัมภาษณ์เรื่องการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต คนสัมภาษณ์มักอยากได้รูปที่ผมไปทำงานริมทะเล, ริมน้ำตก, บนยอดเขา ฯลฯ แต่จริงๆ แล้ว ในเมื่อผมทำงานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ผมก็ชอบทำงานบนโต๊ะสะดวกๆ มากกว่า, เวลาผมไปทะเล ไปน้ำตก ผมก็ไปเล่นน้ำสิ 😀 )

remote-working

จบตอนแรกแล้ว ตอนต่อไป ตอนที่ 2 หัวข้อ “ตั้งเป้าหมายว่าเราจะเป็นแบบไหน?”