การสร้างธีมที่เป็นมาตรฐาน และขายผ่าน WordPress.com

wordpress-themes

ออกตัวก่อนว่า ผมเองยังไม่เคยขายธีมเลย แม้จะวางแผนมายาวนานและพัฒนาไปหลายแบบแล้วก็ตาม, แต่ที่มาบรรยายและบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทีม Bangkok WordPress Meetup (นำโดย Bryan และ Shinichi) อยากให้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เค้าบอกว่าในไทยหรือในญี่ปุ่นก็ยังไม่มีใครขายผ่าน WordPress.com อยู่ดี นายมาพูดแหละ จะได้ให้เห็นภาพกันว่า การทำธีมให้ได้มาตรฐานที่ดีในแนวทางของ WordPress นั้นเป็นอย่างไร

ถ้าพัฒนาได้ตามมาตรฐานนี้ ผมเองก็เชื่อว่า ไม่ว่าจะนำไปขายที่ไหน ก็ไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน (แต่เรื่องคนจะซื้อหรือเปล่า ธีมมีจุดเด่นจุดขายด้านไหน อันนั้นเป็นอีกเรื่องนะ :D)

พื้นฐานความรู้

ปัจจุบันคนหันมาสร้างเว็บด้วย WordPress จำนวนมาก (สถิติปีที่แล้วอยู่ที่ 18.9% ของเว็บทั้งหมดในโลก) ทำให้ WordPress เริ่มกลายเป็นมาตรฐานหนึ่งของการทำเว็บ คนทั่วไปใช้ WordPress ใส่ข้อมูลที่ต้องการ แล้วก็เลือกธีมที่เหมาะสมมาประกอบ ทำให้ได้เว็บที่สามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา ใช้เวลาพัฒนาน้อย งบประมาณไม่มากนัก สร้างเว็บได้ง่ายและเร็วขึ้นมาก

การทำเว็บ ที่เคยเหมือน “การรับเหมาสร้างบ้านทีละหลัง” ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น “การซื้อชิ้นส่วน/เฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการ มาประกอบ”

คนทำเว็บ จึงเริ่มเปลี่ยนจาก “ผู้รับเหมาทำเว็บ” เป็น “คนผลิตชิ้นส่วนเพื่อขาย เช่น ธีม หรือ ปลั๊กอิน”

และนั่นก็ทำให้ตลาดซื้อขายธีม/ปลั๊กอิน โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด เช่น Themeforest ที่ธีมขายดีๆ จำนวนมากนั้นขายได้หลายหมื่นชุด ชุดละพันกว่าบาท ก็เป็นยอดขายธีมละหลายสิบล้านบาท ซึ่งมากกว่ารับทำเว็บหลายปีซะอีก ในขณะที่ผู้ซื้อไปใช้ ก็จ่ายถูกกว่าการจ้างทำเว็บ

ผมเองเชื่อว่า ในอนาคต คนเราจะซื้อ “ธีม” มาทำเว็บ มากกว่าจ้างทำเว็บ
เหมือนกับที่ปัจจุบัน เราซื้อ “เสื้อผ้าสำเร็จรูป” มาใส่ มากกว่าสั่งตัดตามขนาด

แล้วธีมบน WordPress.com ละ?

WordPress เอง พัฒนาโค้ดแล้วแจกฟรีผ่าน WordPress.org มานาน แจกทั้งโค้ด/ปลั๊กอิน/ธีมฟรี แต่ก็ไม่ได้ทำตลาดขายธีมจริงจังซักที ผมเองคิดว่า เพราะ Matt (ผู้ก่อตั้ง) พยายามจะหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากตัวโค้ดหลักของ WordPress เอง เค้าอุทิศให้เป็นสมบัติสาธารณะ  และเค้าต่อสู้มาโดยตลอดว่า ธีมที่ขายกันนั้น คนซื้อไปก็ต้องมีสิทธิเอาไปทำอะไรก็ได้ด้วย จนในที่สุด ตอนนี้ตลาดขายธีมทุกที่ ยอมรับกฏร่วมกันแล้วว่า ธีมที่ขายนั้นต้องเปิดเผยโค้ด ไม่มีการเข้ารหัส, ผู้ขายธีมสามารถเลือกขายแบบ 100% GPL ได้ (คือ ซื้อแล้วเอาไปทำอะไรก็ได้ ดัดแปลง/ขายต่อ ได้หมด) เช่น

ดังนั้น ก็ถึงเวลาที่ตลาดใหญ่อย่าง WordPress.com ควรจะเปิดรับธีมจากคนทั่วๆ ไปมาขายซักที

ก่อนส่งธีมขาย ต้องตรวจอะไรบ้าง?

WordPress.com ได้สรุปไว้สั้นๆ ที่ Selling Premium Themes on WordPress.com นั่นคือ

สิ่งที่ WordPress.com จะให้

  • การแบ่งรายได้ (คุณ Shinichi บอกว่าแบ่งกันคนละครึ่งกับ WordPress.com), หน้าตรวจสอบยอดขาย, การทดลองตั้งราคาได้อิสระ
  • ช่วยตรวจโค้ดเราก่อนขาย และข่วยแก้ปัญหาฉุกเฉินหลังขาย
  • มีระบบ Custom Design ซึ่งใช้ง่าย คนสามารถเลือกฟอนต์, ชุดสี, แก้ CSS เองได้
  • ช่วยประชาสัมพันธ์ธีมของเราให้

สิ่งที่ WordPress.com คาดหวังคนทำธีมขาย

  • สร้างธีมเจ๋งๆ นะ
  • ดูแลหลังการขายดีๆ ด้วย
  • คอยอัพเดทและแก้บั๊กอย่างสม่ำเสมอ

สัญญาอนุญาตของธีม

  • ธีมที่ขายต้องเป็น GPL หรือใกล้เคียง คร่าวๆ คือ ต้องเปิดโค้ด และให้คนที่ซื้อ เอาไปทำอะไรก็ได้

มาตรฐานการพัฒนาธีม

  • พัฒนาในเครื่องตัวเอง กับผ่านระบบเก็บเวอร์ชันต่างๆ ของเวิร์ดเพรสที่ชื่อ /trunk/
  • รองรับ Jetpack
  • ลงปลั๊กอิน Developer ที่ช่วยเช็คสภาพแวดล้อม Server/ปลั๊กอิน/ตัวแปรต่างๆ
  • ลงข้องมูล Theme Unit Test เพื่อเช็คว่า ธีมเรารองรับเนื้อหาทุกกรณีที่เป็นไปได้หรือไม่
  • พัฒนาบนระบบควบคุมเวอร์ชั่น (Version Control) เช่น Versions
  • ลงธีม _s ไว้อ้างอิง (ตัวนี้ แม้แรกๆ ผมจะไม่ค่อยชอบเพราะมันดูซับซ้อน แต่พอเข้าใจก็พบว่าน่าสนใจมาก)
  • ลงธีม Default Theme ปีปัจจุบันไว้อ้างอิง

สิ่งที่ต้องตรวจสอบก่อนส่ง

  • โค้ดทั้งหลาย อยู่ในแนวทางของ Theme Guide (เยอะมาก เจ๋งมาก)
  • ผ่านการทดสอบของปลั๊กอิน Theme-Check
  • ผ่านการทดสอบของปลั๊กอิน VIP Scanner
  • (ทั้งสองปลั๊กอินนี้ คือตรวจสอบว่าได้เขียนตาม Theme Guide ของข้อแรกหรือเปล่านั่นเอง)
  • ถ้าใช้ Option Framework – เอาออกซะ มันทำให้ซับซ้อนเกินไป (สำหรับ WordPress.com)
  • ตรวจสอบ, ทำความสะอาดขยะในข้อมูล เช่นช่องว่าง หรือการเข้ารหัสที่ผิด และระวังความปลอดภัยของข้อมูล: Validating Sanitizing and Escaping User Data
  • Script ทั้งหลายที่ส่งมา ไม่ต้องย่อ (minified) จัดระยะปกติให้อ่านง่ายตรวจง่าย
  • จัดการพวกคำเตือนของ PHP ต่างๆ ให้เรียบร้อย (PHP fatals, errors, warnings, and notices)
  • ไฟล์ Style.css ต้องประกอบด้วยชื่อธีม, ลิงก์ของธีม, ผู้สร้าง, คำอธิบาย, เวอร์ชัน, สัญญาอนุญาต, text domain, domain path (ใช้อ้างอิงเวลาแปล)
  • ห้ามมี Option ให้เลือกสี – เดี๋ยวใช้ Custom Design แทน
  • ห้ามมี Option ให้เลือกฟอนต์ – เดี๋ยวใช้ Custom Design แทน
  • ห้ามมี Custom Post Type ที่ Jetpack ไม่รองรับ (คือ ห้ามสร้าง Custom Post Type เองนั่นเอง)

มาทำธีมกันเถอะ

ผมคิดว่า เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการทำธีมแจกฟรี แล้วเมื่อชำนาญแล้วก็เพิ่มมูลค่าบางอย่างลงไปแล้วทำเป็นเวอร์ชันขาย ตอนนี้ผมเองก็ส่งธีมแก้ไปแก้มากับ WordPress.org อยู่ ก็ทำให้ได้ความรู้หลายๆ อย่าง ถ้าหากคนอื่นๆ สนใจ ผมว่าเริ่มจากการส่งให้ผ่าน WordPress.org ก่อน ก็น่าจะทำให้เราได้พัฒนามุมมองจำนวนมาก แล้วหลังจากนั้นจะส่งเข้า WordPress.com หรือที่อื่นๆ ก็น่าจะผ่านง่ายขึ้นแล้วครับ

ผมเองซื้อธีมมาหลายสิบธีม ใช้แล้วก็ทิ้งไปเกือบหมด ทำให้คิดว่า จริงๆ แล้วเราไม่ควรไปดูธีมที่ขายดีแล้วทำตาม เพราะมันอาจเป็นแค่ฟองสบู่ก็ได้ แต่ควรจะทำธีมที่เราเองอยากจะใช้จริงๆ หรือกลุ่มเป้าหมายของเราใช้แล้วเกิดประโยชน์จริงๆ ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่การมีฟีเจอร์หรือ Theme Option สารพัด แต่เป็นธีมที่เหมาะกับเว็บประเภทนั้นได้จริงก็พอ

facebook-poster

เกี่ยวกับงาน WordPress Meetup

งาน WordPress Meetup เป็นงานที่เน้นพบปะและแบ่งปันความรู้กันในหมู่คนใช้เวิร์ดเพรส เน้นจัดงานเล็กๆ แต่ละครั้งพูดไม่นาน แต่จัดกันบ่อยๆ และต่อเนื่อง เป็นงานอาสาสมัคร เปลี่ยนคนจัดและวิทยากรไปเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นแนวทางที่เหมาะมาก เพราะทำให้ผู้จัดและผู้เข้าร่วมไม่ลำบากเกินไป แต่ละครั้งก็เน้นไปที่ประเด็นต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

งานครั้งต่อไปจะจัดเดือนหน้า วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 คุณ จ๋ง จะมาพูดเกี่ยวกับเรื่องธีม _s (Under Scores) ที่เวิร์ดเพรสตั้งใจจะให้เป็นมาตรฐานการทำธีมเริ่มต้นสำหรับธีมต่างๆ ในอนาคต ผมเองก็จะลงมาด้วย เพราะคุยกับทาง Hubba แล้วว่าจะเปิดคอร์สอบรมการทำธีมเวิร์ดเพรสในวันเสาร์ที่ 19 ก.ค. ก่อน และวันอาทิตย์ที่ 20 จะได้นำ “ตัวอย่างธีมที่สร้างจาก _s” มาแบ่งปันกันครับ 🙂