หนังสือ Work for Money, Design for Love (ตอนที่ 2)

book-review-2

จาก ตอนที่ 1 เริ่มต้นยังไงดี? เราจะเห็นภาพคร่าวๆ ของการเป็นฟรีแลนซ์ ตอนที่ 2 นี้หนังสือจะให้เราวางแผนให้ละเอียดขึ้น

ตอนที่ 2: ตั้งเป้าหมายว่าเราจะเป็นแบบไหน?

จะรับงานจากลูกค้าตรง? หรือว่ารับผ่านเอเจนซี่/บริษัทออกแบบ?

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการรับงานครึ่งนึงจากบริษัทอื่นๆ และอีกครึ่งรับตรง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีเค้าพบว่า สำหรับเค้า รับตรง 100% ทำงานได้ดีกว่า

การรับงานตรง ข้อดีคือได้คุยกับลูกค้าจริงๆ รู้ความต้องการจริงๆ ของลูกค้า และลูกค้ามาหาเราเพราะอยากได้งานในแนวของเรา (ซึ่งแปลว่า เราต้องนำเสนองาน/Portfolio ได้ดีด้วยนะ) แต่ข้อเสียคือ ลูกค้ามักจะไม่ใช่คนที่เข้าใจด้านการออกแบบ ดังนั้นต้องถามให้เยอะ อธิบายให้เยอะ (การตั้งคำถามและบริหารโปรเจ็คที่ดี จะมีอธิบายในบทต่อๆ ไป)

ส่วนการรับผ่านเอเจนซี่ ข้อดีคือ มักจะได้บรีฟที่เป็นภาษาเดียวกัน คุยด้านเทคนิคได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ เราอาจไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วลูกค้าต้องการอะไรกันแน่ (เพราะบางเอเจนซีแค่ foward mail, ไม่สรุป) หลายครั้งทำจนเอเจนซีโอเค กลับขายงานไม่ผ่าน เพราะเอเจนซีดันตีโจทย์ผิดเอง, นอกจากนั้นเอเจนซีมักรับปากลูกค้าโดยไม่รู้ว่าทำได้หรือเปล่า สุดท้ายก็ต้องบีบให้เราทำให้ได้ ทั้งงบประมาณและเวลาที่จำกัด

วางแผน! (แต่ก็ต้องยืดหยุ่น)

Antoine de Saint-Exupery นักเขียนชาวฝรั่งเศส (Menn: คนที่เขียนเจ้าชายน้อย) เคยกล่าวไว้ว่า เป้าหมายที่ไม่มีการวางแผน เป็นแค่ความฝัน

ดังนั้น การจะเป็นฟรีแลนซ์ ต้องวางแผนธุรกิจ โดยเริ่มจากหาข้อมูล ทั้งขนาดธุรกิจ, ราคาของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย, ขนาดการจ้างงาน, ปริมาณงาน ฯลฯ และตรวจสอบข้อมูลจริง โดยถามคนรอบข้าง ถามว่าที่ลูกค้า ว่าเค้ายินดีจ่ายเท่าไหร่ กับงานขนาดไหน อย่าลืมว่า ยิ่งเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ก็ยิ่งทำให้เราชัดเจน เช่น ของคนเขียน (ที่เป็นนักออกแบบแบรนด์) เค้าตั้งเป้าว่า

  • จะรับออกแบบแบรนด์ (โลโก้และบุคลิกต่างๆ ของผลิตภัณฑ์) ให้กับลูกค้าระดับกลาง-ใหญ่ ที่ก่อตั้งมามากกว่า 10 ปี และเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าเริ่มเชย เลยอยากปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่
  • เค้าจะทำงานที่บ้านคนเดียว
  • เค้าน่าจะทำกำไรได้ในเดือนที่สิบ
  • เป้าหมายของเค้าคือ เมื่อทำแบรนด์ใหม่แล้ว ลูกค้าต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น โดยเก็บข้อมูลกำไรของลูกค้าต่อเนื่องไปสามปีหลังรีแบรนด์
  • แบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกพนักงาน 15-50 คน อีกกลุ่มคือ 50 คนขึ้นไป
  • ลูกค้าจะรู้จักเค้าผ่านอินเทอร์เน็ต, ผ่านลูกค้าเก่าที่มีมากกว่า 100 ราย, ผ่านการเมลไปแนะนำตัว (ซึ่งจะเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เน้นบริษัทที่เค้านับถือและอยากร่วมงาน และแนะนำตัวกับแต่ละรายโดยเฉพาะ ไม่ใช่เมลเป็น Spam)
  • จะต้องหาลูกค้ารายแรกให้ได้ใน 1 เดือน และอีก 3 รายในไตรมาสที่สอง ในปีแรกควรมีลูกค้า 8 ราย

ลงทุน

สิ่งที่ต้องมีเมื่อมาเป็นฟรีแลนซ์

  • อุปกรณ์ออฟฟิศ, โต๊ะทำงาน
  • คอมพิวเตอร์ (iMac & Macbook Air), ปรินเตอร์สี A3, ซอฟแวร์ลิขสิทธิ์ (Adobe, Office, Font)
  • เว็บแนะนำผลงาน, นามบัตร, แฟ้มแนะนำตัว
  • ค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าเน็ต, ค่าโทรศัพท์, (หรืออาจมีค่าเช่า)
  • หนังสือด้านการออกแบบที่ทันสมัยอยู่เสมอ
  • ตั้งเงินเดือนตัวเอง รายจ่ายของธุรกิจนั้นเป็นคนละส่วนกับรายจ่ายส่วนตัว
  • เงินเดือนตัวเองจะต้องครอบคลุมรายจ่ายส่วนตัวด้านอื่นๆ เช่น หาหมอ, ซ่อมรถ, กินข้าว, เช่าบ้าน, ท่องเที่ยว ฯลฯ
  • ทำงบกระแสเงินสด (Cash flow – จะมีกล่าวในบทต่อๆ ไป) เมื่อไม่รับเงินเดือนใคร เราก็ต้องรู้ว่ารายได้รายจ่ายจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

การเห็นสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราสามารถกำหนด “เงื่อนไขการเก็บเงิน” ได้ชัดเจน สามารถตอบลูกค้าได้ว่า อะไรคือต้นทุนของธุรกิจ (Menn: แต่ถึงตอบลูกค้าได้ ก็ตอบสรรพากรไม่ได้หรอกนะ, เพราะสรรพากรไทยถือว่า สติปัญญาไม่มีต้นทุน ฮ่าๆๆ)

ตั้งชื่อแบรนด์

ก่อนจะตั้งชื่อ เราควรรู้จักตัวเองก่อน ตอบคำถามพื้นฐานให้ได้ว่า เป้าหมายของธุรกิจนี้คืออะไร, วิสัยทัศน์ (vision) คืออะไร, จุดแข็งของเราคืออะไร, จุดเด่นที่เหนือคนอื่นคืออะไร, มีจุดขายที่สร้างอารมณ์ร่วมได้มั้ย?, กลุ่มเป้าหมายคือใคร, ต้องการใช้คำประเภทไหน, มีชื่อในเน็ตว่างหรือเปล่า, ออกเสียงเป็นยังไง, จำง่ายมั้ย, ความหมายดีมั้ย ฯลฯ

(Menn: ส่วนตัวผมว่าประเด็นในหนังสือเยอะไปหน่อย ผมชอบทำตามบันทึกนี้ เบื้องหลังการออกแบบเว็บ MacThai.com และการหาชื่อว่าง แนะนำเว็บ namechk.com ที่จะช่วยเราตรวจชื่อว่างบนทุก Social Network เลย >_< )

ทำงานที่บ้าน หรือเช่าออฟฟิศ?

  • ทำงานที่บ้าน สะดวก ถูก แต่หลายครั้งแยกงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ได้ เหมือนจะได้พักผ่อนตลอดเวลา แต่ก็ต้องทำงานตลอดเวลา
  • เช่าออฟฟิศ แพงขึ้น ดูโปรขึ้น (ถ้าต้องการให้ลูกค้ามาหา) แต่ก็ต้องมีคนไปดูแล และอาจเสียเวลาเดินทาง และตอน “ตัดสินใจเช่าขนาดไหนดี” ก็ไม่ง่ายนัก ออฟฟิศเล็กไปก็กลัวขยายลำบาก ออฟฟิศใหญ่ไปก็แพงและไม่ได้ใช้
  • (Menn: แต่ปัจจุบันมีธุรกิจ Visual Office, Co-Working Space ก็นับว่าน่าสนใจ ผมเองเคยไปทั้ง Hubba และ LaunchPad ก็พบว่าเปลี่ยนบรรยากาศดีครับ)

ทำเว็บ เขียนบล็อก

  • ให้หาชื่อว่างแล้วจดโดเมนซะ (เหมือนขึ้นทะเบียนบ้าน) กับหาเช่าพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตเพื่อเก็บข้อมูลเรา (เรียกว่า Hosting) หลังจากนั้นก็นำข้อมูลของเรามาใส่ นำเสนอให้น่าสนใจ ให้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย แม้จะเคยทำงานอะไรมาสารพัด ถ้าไม่ตรงกับโจทย์ของเว็บ ก็อย่าเอามาใส่ใน Port (Menn: ในหนังสือมีวิธีคิดเรื่องการทำเว็บอยู่บ้าง เดี๋ยวผมคงเอาไปเขียนภายหลัง, ส่วนเรื่อง Portfolio: ผมเองเคยทำเว็บใหญ่ๆ อย่าง Majorcineplex, TMB, Dtac, AIS, ฯลฯ ก็ไม่เอามาลง เพราะมันคนละขอบเขตงานกับ Menn Studio)
  • เขียนบล็อกให้ได้อย่างจริงจัง คนเขียนกันเวลาไว้สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงเพื่อเขียนบล็อก เพราะบล็อกเป็นการแนะนำตัว และดึงดูดลูกค้าที่เหมือนเราให้มาเจอเรา ถ้าไม่เขียนบล็อก เราจะเจอลูกค้าที่ตรงกับเราได้ยาก
  • เขียนบล็อกอะไรก็ได้ แนวคิด, ตัวอย่างงานที่ชอบ, ผลงานที่ผ่านมา, ให้ความรู้เรื่องต่างๆ ยิ่งลูกค้ารู้จักเรา เค้ายิ่งเปิดโอกาสให้เรา และอาจจะได้ทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าแค่ที่เห็นใน Portfolio
  • แต่อย่าคิดว่าเขียนเสร็จจะมีคนมาดูเลยนะ มันต้องใช้เวลาสั่งสม สร้างเครือข่าย หาประเด็นที่น่าสนใจไปเรื่อยๆ

วิธีขายงานและสร้างชื่อ

  • การที่เราเป็นพนักงาน เราไม่สามารถเอางานบริษัทมาเป็น Port ได้ เพราะงานนั้นเป็นสมบัติของบริษัท ดังนั้นวิธีที่จะทำให้เรามีงานเจ๋งๆ เป็นพอร์ท คือ ทำงานบางอย่างเพื่อสังคม/โรงเรียน/ชมรม/สมาคม
  • หรือทำงานส่งประกวด
  • หรือทำไฟล์บางอย่างแจกฟรี (เช่นไฟล์กราฟฟิค, ธีม, ฯลฯ)
  • แต่อย่าทำงานฟรีให้คนไม่รู้จัก ทำงานฟรีเฉพาะสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม คนที่มาขอให้เราทำงานฟรีมักไม่เห็นคุณค่าของงาน
  • กับวิธี offline คือ อยู่แถวไหน รู้จักร้านไหน ก็แนะนำตัวไปเรื่อยๆ สร้างเครือข่ายไปเรื่อยๆ
  • จริงใจ ไม่ต้องสร้างภาพว่าเป็นบริษัทใหญ่ ข้อดีของบริษัทเล็กคือความยืดหยุ่น, การสื่อสารที่ชัดเจน, ความเร็ว, คุณภาพที่สม่ำเสมอ, หรือความสามารถเฉพาะทางบางอย่าง นำเสนอให้คนอื่นรู้ว่าคุณแตกต่าง
  • มีจรรยาบรรณ ถ้าคุณขโมยของคนอื่น (งาน, ซอฟต์แวร์, เครดิต ฯลฯ) คุณก็จะโดนคนอื่นขโมย และสร้างได้แต่งานที่ “ขโมยกันได้” ถ้าคุณแตกต่างมากพอ คุณจะดึงดูดลูกค้าที่ดีและให้เกียรติความคิดของคุณ

จบตอนที่สองแต่เพียงเท่านี้ สัปดาห์หน้าจะมาสรุปตอนต่อไป วิธีบริหารโครงการ (Project Management)